วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555


แม่อาจารย์ มรภ.อุตรดิตถ์ จี้สอบ"ควายเผือกบุญมา"หาย ยันผิด พ.ร.บ.ราชภัฎแน่ ชี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ขอโทษแล้วจบกันคงเป็นไปไม่ได้
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม นางอิงอร เทพรักษา อายุ 56 ปี แม่ของน.ส.นันทวรรณ เทพรักษา อาจารย์อัตราจ้างสอน คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) อุตรดิตถ์ ที่นำควายเผือกชื่อบุญมาไปบริจาคให้กับศูนย์อนุรักษ์กระบือไทย มรภ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า สิ่งที่ มรภ.อุตรดิตถ์ ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่สังคมรู้แล้ว และขอโทษแล้วจบกันคงเป็นไปไม่ได้ ที่ลูกสาวยื่นหนังสือเรียกต่อ มรภ.อุตรดิตถ์นั้น เป็นเพียงการชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นเท่านั้น และ มรภ.กลับโยนเรื่องให้นิติกรเป็นผู้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรแทน เชื่อว่าคงไม่รับรู้ความจริงว่าควายบุญมายังมีชีวิตอยู่หรือไม่

นางอิงอร กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กแล้ว เพราะสื่อและสังคมทั่วไปให้ความสนใจมาก พยายามสอบถามความจริงว่า เส้นทางของควายบุญมาไปอย่างไร แต่ผู้เกี่ยวข้องไม่บอกพยายามบอกบ่ายเบี่ยงตลอดเวลา หาก มรภ.อยากให้เรื่องนี้กระจ่างไม่ยากต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง และคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาต้องเป็นคนภายนอกไม่ใช่คนใน มรภ.อุตรดิตถ์ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอธิการบดี และผู้รับผิดชอบศูนย์อนุรักษ์กระบือที่เป็นคนใน มรภ.โดยตรง หากคนในทำเกรงจะไม่ได้ข้อเท็จจริง เพราะต้องมีการช่วยเหลือกันอย่างแน่นอน

"การมอบสิ่งของหรือแม้แต่ควายบุญมาให้กับ มรภ.อุตรดิตถ์ไปแล้ว ควายบุญมาถือว่าเป็นทรัพย์สินของ มรภ.อุตรดิตถ์ หาก มรภ.อุตรดิตถ์ ต้องการจะดำเนินการกับสิ่งที่บริจาคต้องกลับไปดูว่า พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฎ พ.ศ.2547 มาตรา 15 วรรค 2 ที่ระบุว่า เงินและทรัพย์สินที่ผู้อุทิศให้แก่มหาวิทยาลัยจะต้องจัดการตามเงื่อนไขผู้ที่อุทิศให้กำหนดไว้ และต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว มหาวิทยาลัยต้องได้รับความยินยอมจากผู้อุทิศให้หรือทายาท หากไม่มีทายาทหรือไม่ปรากฏ จะต้องได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย" นางอิงอร กล่าว

นางอิงอร กล่าวว่า เรื่องที่ควายบุญมาไม่อยู่ในศูนย์ ไม่ว่าจะเชือดแล้วหรือหายไปโดย มรภ.ไม่สามารถติดตามกลับมาได้ก็ตามิถือว่า มรภ.อุตรดิตถ์ กระทำผิดต่อ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยดังกล่าว ที่สำคัญจุดประสงค์ของลูกสาวที่นำไปบริจาคให้ศูนย์ มรภ.อุตรดิตถ์ ต้องการให้อนุรักษ์ ไม่ใช่บริจาคแล้วให้เอาไปขายหรือนำไปเชือด หากเป็นศูนย์ต้องมีบัญชีควายทุกตัวว่ามีจำนวนเท่าได ต้องสามารถตรวจเช็คได้ว่า ควายที่ใครบริจาคยังอยู่ที่ศูนย์หรือไม่

นายชาญชัย เทพรักษา อายุ 57 ปี บิดาของ น.ส.นันทวรรณ กล่าวว่า พยายามสอบถามเรื่องนี้กับ มรภ.ว่าควายบุญมาของลูกสาวที่นำไปบริจาคยังอยู่หรือไม่ แต่เท่าที่สืบด้วยตัวเองทราบว่า ควายบุญมาถูกขายไปที่นายอัง ชาว ต.คุ้งตะเภา อ.เมืองอุตรดิตถ์ จากนั้นก็ขายให้กับโรงเชือดไปแล้วเช่นกัน


วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า     นายอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ ด้านกวีนิพนธ์   วัย 86 ปี   ได้เสียชีวิตลงแล้วอย่างสงบ  เมื่อเวลา 01.30 น.   วันที่ 25 สิงหาคม  หลังจากป่วยเป็นเป็นโรคหัวใจและโรคเบาหวานเรื้อรังมานาน  โดยจะมีพิธีรดน้ำศพ  ในเวลา 17.00 น.   ที่ วัดตรีทศเทพ และจะมีการสวดพระอภิธรรมศพเป็นเวลา 7 วัน


สำหรับ อังคาร กัลยาณพงศ์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ 12  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของกำนันเข็ม และนางขุ้ม กัลยาณพงศ์ ในวัยเด็กร่างกายเคยเป็นอัมพาตเคลื่อนไหวไม่ได้ มีหมอมารักษาด้วยสมุนไพรจนหาย  



อังคาร  ศึกษาระดับประถมที่ โรงเรียนวัดจันทาราม ต่อมาก็เรียนที่วัดใหญ่จนจบประถมสี่ แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด คือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง  จากนั้น เข้าเรียนที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นศิษย์ของศิลปินใหญ่อย่างเช่น ศ. ศิลป พีระศรี. อ, เฟื้อ หริพิทักษ์,จึงได้ติดตามและร่วมมือกับอาจารย์ในด้านศิลปกรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์



ความเป็นกวีนั้นเป็นพรสวรรค์ที่อังคารเชื่อมั่นและฝึกฝนมาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยม เมื่อออกจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ได้ร่อนเร่เรียนรู้และสร้างสรรค์การวาดภาพและเขียนบทกวี ได้มีโอกาสคุ้นเคยกับศิลปินและกวีร่วมยุคสมัยหลายคน มีผลงานบทกวีปรากฏในหนังสือ "อนุสรณ์น้องใหม่" มหาวิทยาลัยศิลปากร กระทั่งได้พบกับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการคนแรกของ "สังคมศาสตร์ปริทัศน์" บทกวีของอังคาร กัลยาณพงศ์ จึงได้พิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง มีผลงานที่จัดพิมพ์สร้างความตื่นตัวตื่นใจให้กับวรรณกรรมไทยมาเนิ่นนาน เช่น กวีนิพนธ์ (2507), ลำนำภูกระดึง (2512), สวนแก้ว (2515), บางกอกแก้วกำสรวลหรือนิราศนครศรีธรรมราช (2512)

ส่วนในด้านงานจิตรกรรมนั้น อังคารเรียนวิชาวาดเขียนได้คะแนนดีมาโดยตลอด จนได้รับคำบันทึกจากคุณครูเขียนลงในสมุดรายงานว่า เป็นผู้มีใจรักและฝักใฝ่ในวิชาวาดเขียน เขามองว่าการวาดเขียนถึงแม้จะไม่ได้เงินทองมาก แต่จะมีประโยชน์ไปบริการทางวิญญาณ จะทำให้วิญญาณมนุษย์ดีขึ้น โดยเขาเคยให้ทัศนะในการทำงานว่า  เหมือนกับการเติบโตของต้นไม้ มันค่อย ๆ ขึ้นทีละใบสองใบ ค่อยแตกไปเรื่อย ๆ ถึงฤดูกาลก็แตกดอกออกผล ก่อนออกผลก็ออกดอกเสียก่อนไปตามลำดับ   พร้อมยืนยันว่า  จะไม่ขอทำอย่างอื่นแล้วในชีวิตนี้ จะทำงานเหล่านี้ไปตลอดจนถึงชาติหน้า ทั้งงานศิลปะ ไม่ว่าจะวาดหรือปั้น รวมถึงงานเขียนบทกวี  

ในปี 2532  อังคาร ได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ด้านกวีนิพนธ์ ซึ่งเป็นกวีร่วมสมัยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น จินตกวี ผู้ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านวรรณศิลป์และทัศนศิลป์   ทั้งนี้ เขาได้รับการยอมรับในฐานะเป็นจิตรกรและกวีที่คงความเป็นไทย ทั้งในด้านความคิดและรูปแบบ อีกทั้งยังเป็นกวีที่มีความคิดเป็นอิสระ ไม่ถูกร้อยรัดด้วยรูปแบบที่ตายตัว จึงนับเป็นกวีผู้บุกเบิกกวีนิพนธ์ยุคใหม่


ทั้งนี้  ในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  (พธม.) ในปี 2551 และในปี 2554  อังคาร กัลยณพงศ์ ยังได้เคยขึ้นเวทีอ่านบทกวีและขับเสภาเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ร่วมชุมนุมอยู่หลายครั้ง


อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้สมรสกับคุณอุ่นเรือน มีบุตรชาย 1 คน บุตรสาว 2 คน คือ ภูหลวง อ้อมแก้ว และวิสาขา กัลยาณพงศ์ โดยสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมและงานประพันธ์ทั้งร้องกรองและร้อยแก้วเป็นอาชีพ




ปณิธานกวี (อังคาร กัลยาณพงศ์)

ใครจะอาจซื้อขายฟ้ามหาสมุทร
แสนวิสุทธิ์โลกนี้ที่พระสร้าง
สุดท้ายกายวิภาคจะจากวาง
ไว้ระหว่างหล้าและฟ้าต่อกัน

เรามิใช่เจ้าของฟ้าอวกาศ
โลกธาตุทั่วสิ้นทุกสรวงสวรรค์
มนุษย์มิเคยนฤมิตตะวันจันทร์
แม่แต่เม็ดทรายนั้นสักธุลี

แย่งแผ่นดินอำมหิตคิดแต่ฆ่า
เพราะกิเลสบ้าหฤโหดสิงซากผี
ลืมป่าช้าคุณธรรมความดี
เสียศรีสวัสดิ์ค่าแท้วิญญาณ

สภาวะสรรพสิ่งทุกส่วนโลกนี้
ควรที่สำนึกค่าทิพย์วิเศษวิศาล
อนุรักษ์ดินน้ำฟ้าไว้ตลอดกาล
เพื่อเหนือทิพยสถานวิมานแก้วไกวัล

ทุ่งนาป่าชัฏช้าอรัญญิกาลัย
เทือกผาใหญ่เสียดดาวดึงส์สวรรค์
เนื้อเบื้อเสือช้างลิงค่างนั้น
มดแมลงนานพันธุ์ทั้งจักรวาล

เสมอเสมือนเพื่อนสนิทมิตรสหาย
เกิดร่วมสายเชี่ยววัฏฏะสังสาร
ชีพหาค่าบ่มิได้นับกาลนาน
หวานเสน่ห์ฟ้าหล้าดาราลัย

ถึงใครเหาะเหินวิมุติสุดฝั่งฟ้า
เดือนดาริกาเป็นมรคายิ่งใหญ่
แต่เราขอรักโลกนี้เสมอไป
มอบใจแด่ปฐพีทุกชีวีวาย

จะไม่ไปแม้แต่พระนิรพาน
จะวนว่ายวัฏฏะสังสารหลากหลาย
แปลค่าแท้ดาราจักรมากมาย
ไว้เป็นบทกวีแด่จักรวาล

เพื่อลบทุกข์โศก ณ โลกมนุษย์
ที่สุดสู่ยุคสุขเกษมศานต์
วานนั้นฉันจะป่นปนดินดาน
เป็นฟอสซิลทรมานอยู่จ้องมอง

สิ้นเสน่ห์วรรณศิลป์ชีวิตเสนอ
ละเมอหาค่าทิพย์ไหนสนอง
อเนจอนาถชีวีทุกธุลีละออง
สยดสยองแก่ถ่านเถ้าเศร้าโศกนัก

แล้งโลกกวีที่หล้าวูบฟ้าไหว
จะไปรจนารุ้งมณีเกียรติศักดิ์
อำลาอาลัยมนุษย์ชาติน่ารัก
จักมุ่งนฤมิตจิตรจักรวาล

ให้ซึ้งซาบกาพย์กลอนโคลงฉันท์
ไปทุกชั้นอินทรพรหมพิมานสถาน
สร้างสรรค์กุศลศิลป์ไว้อนันตกาล
นานช้าอมตะอกาลิโก

ปณิธานกวี - อังคาร กัลยาณพงศ์