วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555



วันนี้ (1 ต.ค.) ภายหลังราชบัณฑิตยสถาน ออกมาระบุว่า กำลังสำรวจความคิดเห็นต่อการแก้ไขคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ จำนวน 176 คำ ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ สอบถามความคิดเห็นกรณีดังกล่าวไปยัง นายสุผจญ กลิ่นสุวรรณ ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรรายการอิงลิช เบรคฟาสต์ ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในฐานะกูรูภาษาอังกฤษ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการสอบถามความคิดเห็นก่อนตัดสินใจแก้ไข และเข้าใจว่าทางราชบัณฑิตมีเจตนาที่ดีในการแก้ไขคำศัพท์ให้ตรงกับการออกเสียง แต่มีข้อกังวลว่า คำทับศัพท์ที่กำลังพิจารณาเปลี่ยนใหม่จะตรงกับการออกเสียงที่ถูกต้องหรือไม่ เช่น เทคโนโลยี แม้เสนอเขียนใหม่เป็น เทคโนโลยี่ แต่ที่ออกเสียงคือ เทคโนโลจี่ นอกจากนี้ คำศัพท์ภาษาอังกฤษมักออกเสียงได้หลากหลายตามสำเนียงที่แตกต่าง เช่น สำเนียงอเมริกัน สำเนียงอังกฤษ จึงแนะนำให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม
นายสุผจญ กล่าวอีกว่า หากมีการแก้ไขคำทับศัพท์ทั้ง 176 คำตามข่าว โดยความเห็นส่วนตัวเกรงว่าจะทำให้คนไทยหันไปเขียนคำเป็นภาษาอังกฤษแทนคำที่คิดว่าเขียนด้วยภาษาไทยแล้วลำบาก ล่าช้าในการพิมพ์หรือเขียน เช่นการแชทหรือพูดคุยผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งกรณีนี้อาจทำให้คนไทยลืมคำทับศัพท์เหล่านั้นไปเลย
ด้าน นายกิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ หรือคุณครูลิลลี่ ครูสอนภาษาไทยของสถานบันกวดวิชาพินนาเคิล เปิดเผยว่า หากมีการแก้คำทับศัพท์ใหม่จะทำให้เด็กสับสนในการเรียน จดจำยาก ของเก่าที่เรียนอยู่เดิมก็ยังจำได้ไม่หมด จำได้ไม่ดี อาจส่งผลกระทบไปถึงผู้ปกครองเมื่อต้องสอนบุตรหลานก็จะลำบากยิ่งขึ้น ดังนั้น ไม่อยากให้เปลี่ยน แต่อยากให้ปรับ โดยเน้นที่การสอน แนะอธิบายเรื่องคำยืมจากภาษาอื่นหรือคำทับศัพท์ให้ชัดเจน ว่าเขียนอย่างไร ออกเสียงอย่างไร จะเป็นทางที่ดีกว่า เพราะภาษาไทยไม่ใช่ภาษาคาราโอเกะ 
ทั้งนี้ การเขียนศัพท์ใหม่ให้ตรงกับการออกเสียง ทางราชบัณฑิตยสถาน แบ่งออกเป็น 7 แบบ ประกอบด้วย 1.คำที่ใส่เครื่องหมายไม้ไต่คู้เพื่อแสดงสระเสียงสั้น เช่น เทนนิส-เท็นนิส แบคทีเรีย-แบ็คทีเรีย  2.คำที่เปลี่ยนตัวพยัญชนะเป็นอักษรสูง เช่น ไนต์คลับ-ไน้ต์ขลับ แฟลต-แฝล็ต 3.คำที่ใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์เอก เช่น กอริลลา-กอริลล่า แคลอรี-แคลอรี่
4.คำที่ใส่ ห นำเพื่อแสดงเสียงวรรณยุกต์เอก เช่น คลินิก-คลิหนิก กะรัต-กะหรัต 5.คำที่เติมเครื่องหมายวรรณยุกต์โท เช่น กลูโคส-กลูโค้ส มอเตอร์-มอเต้อร์ 6.คำที่เติมเครื่องหมายวรรณยุกต์ตรี เช่น กอล์ฟ-ก๊อล์ฟ แบงก์-แบ๊งก์ และ 7.คำที่มีหลายพยางค์ เช่น คอนเสิร์ต-ค็อนเสิร์ต คอมพิวเตอร์-ค็อมพิ้วเต้อร์.
แหล่งข่าว เดลินิวส์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น