วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555


 "โค้ช" ในเดอะวอยซ์คือผู้ที่ส่งต่อและชะลอความฝันของผู้เข้าแข่งขัน ฉันไม่ชอบการปฎิเสธเลยสักนิด แต่เมื่อมันเป็นเกมส์ก็ต้องเล่นตามกฎกติกาจนกว่าจะชนะหรือแพ้นั่นแหละ คนดูทางบ้านอาจจะสนุกและตื่นเต้นกับการลุ้นคนเข้ารอบ-ตกรอบ     แต่โค้ชทั้ง 4 คนบนเก้าอี้สีแดงที่หมุนได้กลับรู้สึกมากกว่านั้นในฐานะ   “ ผู้เลือก ”    ที่ทำให้คนสมหวังและผิดหวังได้ในเวลาเดียวกัน มันคือเกมส์ที่เล่นโดยใช้สัญชาติญาณเพื่อการอยู่รอดโดยแท้ เหมือนเราเป็นคนตาบอดแล้วเดินตามเสียงที่จะพาเราไปเจอทางออก โดยไม่มีทางรู้ว่าต้นเสียงนั้นคืออะไร มีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร และเรียกว่าอะไร ยิ่งไปกว่านั้นเราก็กำลังเล่นกับโชคชะตา ถ้าการที่เราเลือกเสียงที่ชอบคือการถูกชะตากับเสียงนั้น แล้วเหตุใดเสียงที่เพราะเหมือนกันอีกหลายๆ เสียงจึงไม่ถูกเลือก อันนี้ก็คงเทียบได้กับการเลือกคู่นั่นแหละ เหตุใดคนที่ดีๆ บางคนมีคู่ บางคนไร้คู่? โชคชะตามันคงเล่นตลกกระมัง!
 ในฐานะโค้ช … ฉันกับโค้ชอีก 3 คน ก้อง โจอี้ และแสตมป์ ต่างก็ไม่เคยรู้สึก “ ล้า ” กับการจดจ่อฟังเสียงคนมากมาย เพราะเรากำลังหาสิ่งที่ดีที่สุดเข้าทีม มันจึงต้องฟังอย่างตั้งใจในทุกรายละเอียดแม้แต่ลมหายใจระหว่างช่องเสียง ที่บางคนทำได้อย่างมีความหมาย ไม่ใช่เพียงแค่ฮุบลมหายใจเข้าปอดอย่างเดียว บางคนร้องด้วยเสียงเรียบๆ ไม่ได้แสดงพลังอะไรมากมาย แต่มันมีความรู้สึกบางอย่างซ่อนอยู่ในเส้นเสียงที่ทำให้รับรู้ได้ว่า คนๆ นี้มีอะไรมากกว่านั้น บางครั้งมันคืออารมณ์ที่สื่อออกมา บางทีมันก็คือเทคนิคที่ใส่ลงไป   แค่ “ อิ ” หรือ “ แอะ ”    เล็กๆ เพียงครั้งสองครั้งในเพลงที่มีความยาว 2 นาทีก็รู้แล้วว่า “ มีของ ” แต่ของนั้นจะถูกใจโค้ชคนไหนก็อีกเรื่อง “ ลางเนื้อชอบลางยา ” (ชอบกันไปคนละแบบ) จึงทำให้หลายครั้งที่เราไม่แย่งกัน ถ้าจะแย่งก็ต้องมีครบทุกอย่างที่ถูกใจโค้ชทั้ง 4 คนกันไปคนละอย่าง … “ เพราะแปลว่าเพราะ ” ฉันเชื่อว่ามาตรฐานความไพเราะของหูคนฟังบนโลกนี้มีมาตรฐานเดียวกัน (หมายรวมถึงความสนุกและความเศร้าด้วย) ไม่งั้นเพลงฮิตคงไม่ฮิตทั่วโลกดังนั้น “ การเลือกเพลง ” จึงมีส่วนเสียอยู่น้อยมาก สำหรับฉันการเลือกเพลงไม่สำคัญสักเท่าไหร่ คนจะร้องเพราะร้องอะไรก็เพราะ จะเก่งไม่เก่งก็อีกเรื่องขึ้นอยู่กับความถนัด ฉันเลือกจากการเข้าถึงเพลงว่าคนๆ นั้นจะพาฉันเข้าไปอยู่ในเพลงได้แค่ไหน? ทำให้ฉันเชื่อในสิ่งที่เขาร้องได้แค่ไหน? เช่นว่าเพลงเศร้าประมาณหนึ่งแต่ร้องแล้วคนฟังร้องไห้ได้ ในฐานะคนฟังเรียกว่า “ เชื่อ ” ในฐานะคนร้องเรียกว่า “ การเข้าถึงอารมณ์เพลง ” ของแบบนี้ขึ้นอยู่กับอารมณ์และการตีความในแต่ละคน ซึ่งมาจากพื้นฐานอารมณ์และอุปนิสัยโดยธรรมชาติที่สอนกันไม่ได้ ธรรมชาติใครก็ธรรมชาติมัน ในแง่ของสไตล์และเทคนิคเราสามารถสอนกันได้ แต่ถ้าอารมณ์ล่ะก็ตัวใครตัวมัน พอๆ กับเส้นเสียงที่ไม่สามารถใช้ศัลยกรรมหรือเทคนิคใดมาช่วยได้ เพราะมันเป็นโดยกำเนิด เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เรียกว่า “ เสียงเฉพาะตัว ” 
     
              ถึงฉันจะถูกพะยี่ห้อว่า “ ชอบพ่นไฟ ” แผดเสียงสูงๆ ในเพลง ความจริงแล้วฉันชอบฟังเพลงสบายหู แล้วก็อยากร้องเพลงสบายหู ถ้ามันจะต้องแผดเสียงมันก็ต้อง “ ถูกที่ถูกทาง ” ตะบี้ตะบันตะโกนมันทั้งเพลงคงปวดหัวปวดหูกันเสียก่อน ที่สำคัญความไพเราะและความหมายจะถูกทำลายไปเพราะหลังพ่นไฟโง่ๆ นั้น (ตอนเป็นสาวก็แผดเสียงเป็นควายพ่นไฟอยู่ไม่น้อย กว่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็ผ่านมาหลายปีเหมือนกัน) ฉันว่ามันเป็นความเข้าใจผิดว่า “ พ่นไฟ ” แปลว่า เก่ง! เอ่อ … ถ้ามันไม่เข้ากับเพลงก็เอาแค่พ่นควันก็พอ! ฟังแล้วจะได้ชื่นใจสบายหู ขอสารภาพด้วยความอัดอั้นมานาน ณ บัดนาวว่า เวลาร้องเพลงโปรดิวเซอร์มักจะคาดหวังให้พ่นไฟ เวลาร้องในคอนเสิร์ตผู้จัดก็หวังเช่นนั้น เขาว่าคนอยากเห็นแบบนั้น อั่ม … เห็นใจกันบ้างเถอะค่ะคู้ณ แก่แล้ว โลดโผนโจนทะยานมาทั้งชีวิตแล้ว ตอนนี้อิฉันหาคำว่า “ พอดี ” และ “ พอเพียง ” เจอแล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครเปิดโอกาสให้ปฎิบัติ! จะมีก็แค่ “ โก้ มิสเตอร์แซกแมน ” กับ “ เที้ยง ” (วิเชียร ตันติพิมลพันธ์) นักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์เพลงประกอบละคร ดอกส้มสีทอง, บ่วง และล่าสุด กี่เพ้า ที่ทำให้ฉันร้องเพลงด้วยความพอดี
     
              ดังนั้นการร้องเพลงคือการเคารพใน “ เพลง ” และ “ คนฟัง ” อย่างที่สุด การใช้เสียงสื่อความหมายในเพลงอย่างพอดีเป็นการแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง ฉันหวังว่าความคิดนี้จะถูกถ่ายทอดไปสู่ลูกทีมของฉัน ฉันอยากให้คนฟังชื่นชมว่าลูกทีมของฉันร้องเพลง “ ดี ” มากกว่า “ เก่ง ” เพราะเมื่ออยู่ในแวดวงที่เต็มไปด้วยคำชื่นชมและสรรเสริญหากไม่มีจุดยืนและความคิดที่มั่นคงหนักแน่นแล้ว   วันหนึ่ง “ ความเก่ง ” อาจเลยเถิดไปเป็น “ ความอวดเก่ง ” ได้ ซึ่งนั่นคือหายนะ 
     
              การนั่งเก้าอี้สีแดงในเดอะวอยซ์ นอกจากเรื่องเครียดแล้วเรื่องสนุกก็มีอยู่ไม่น้อย จะว่าไปฉันก็แอบใช้ตาสังเกตปฎิกิริยาของคนดูในสตูดิโออยู่เหมือนกัน พอจะเริ่มอัดรายการจะมีเสียงนับ 5-4-3 ดนตรีเริ่มอีตอนก่อนนับ 5-4-3 เป็นช่วงที่ผู้เข้าแข่งขันขึ้นมายืนบนเวที ช่วงเวลาแค่ไม่กี่วินาทีนี้ ฉันกับก้องจะฟังเสียงรองเท้าว่าคัทชูหรือส้นสูง คนเดียวหรือ 2 คน แต่บางทีได้ยินเสียงส้นสูงหันไปก็อ้าว … !  ถ้าฟังให้ดีๆ จะได้ยินเสียงผีกระซิบของคนดู “ แ-ง เอาวิญญาณมารึเปล่าวะ ลอยมาเลย ” ขำก็ขำ นึกภาพตามก็ไม่ออกไม่รู้มันพูดถึงคนหรือผี บางทีเสียงกรี๊ดกร๊าดดังจนผู้กำกับรายการต้องเตือนถึงจะสงบ เดาได้ว่าไอ้นี่หล่อกระแทกจิ้นแหงๆ เพราะเสียงกรี๊ดดังๆ เป็นพวกลูกสาวมากกว่าหญิงสาว บางครั้งเสียงหัวเราะขำอะไรไม่รู้มากมายจนฉันสมาธิหลุด ต้องรวบรวมใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เสียงกรี๊ดระหว่างร้องถล่มดังมาก โค้ชผู้ชายหันกันทั้ง 3 คน โค้ชตัวเมียตัวเดียวอย่างฉันยังไม่หัน แต่อัดอั้นเหลือเกินก็เลยกด ผลที่ตามมา … ติดตามชมแล้วกัน รับรองอันนี้ฮา ช่วงไหนที่เกิดขัดข้องทางเทคนิค ทางทีมจะรีบมาแก้ไขทันที พวกโค้ชทั้ง 4 จะเดินมาที่เก้าอี้ก้องแล้วสุมหัวกันเม้าท์ตัวเด็ดๆ ที่เพิ่งเลือกกันไปราวกับอัดอั้นตันใจมาแต่หนไหน โดยเฉพาะโจอี้ทั้งท่าทางและคำพูดกวนสุดๆ ออกรสออกชาติสุดๆ เวลาที่ผู้ชายเขาเม้าท์กัน … ลืม!  ยิ่งกว่าผู้หญิงซะอีก ก้องขี้หนาว หันมาบอกฉันว่า “ หนาวจังเลย นี่เราต้องเอามือซุกใต้ขานะ จะได้อุ่นๆ ”   แล้วทำท่าให้ดู  จะให้เขาเอามือมาซุกที่พุงฉันก็ใช่ที่ ฉันเลยตอบว่า “ อยากจะช่วยให้หายหนาว แต่เก้าอี้มันห่างไป แขนฉันก็ยิ่งสั้นอยู่ เอื้อมไม่ถึง! ”     เล่นเอาก้องส่ายหน้า! คงนึกในใจว่า … อีกระสือ!!
    .......................................
    (หมายเหตุ โค้ช (III) : เล่นหูเล่นตา โดย... เจนนิเฟอร์ คิ้ม )






0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น