วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555


ระบาด ไวรัสโคโรน่า2012 ที่รุนแรงของโลก

คทง.วิชาการสรุปใช้ชื่อโรคใหม่ 'โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012'ความรุนแรง-การติดต่อยังสรุปไม่ได้ เหตุทั่วโลกพบคนป่วยน้อยแค่ 2 ราย ไทยคุมเข้มมาตรการป้องกันเฝ้าระวังโรค แจ้งทุกโรงพยาบาลรัฐ-เอกชน ด้าน'สุกุมล'เตือนผู้แสวงบุญฮัจญ์เฝ้าระวังเชื้อ 'โคโรน่า'ระบาด

               26 ก.ย.55 ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานวิชาการเพื่อปรึกษาหารือ เบื้องต้น เรื่อง การพบเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในต่างประเทศ มีผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก(ฮู)ประจำประเทศไทย ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯด้านสาธารณสุข(ซีดีซี) ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมของ สธ.ทั้งในด้านเทคนิคและวิชาการหากเกิดการระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ถือว่าเป็นโรคระบาดเนื่องจากทั่วโลกยังพบผู้ป่วยเพียง 2 ราย คือ ชายชาวซาอุดิอาระเบีย อายุ 60 ปี ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ เสียชีวิตและชายชาวกาตาร์ อายุ 49 ปี เคยเดินทางไปประเทศซาอุดิอาระเบีย พักรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ไวรัสตัวนี้เป็นเชื้อตัวใหม่จัดอยู่กลุ่มโคโรน่าไวรัสเช่นเดียวกับไข้หวัดซาร์ส แต่ไม่ใช่ตัวเดียวกับซาร์ส ซึ่งโดยปกติไวรัสกลุ่มนี้จะก่อให้เกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ มีอาการตั้งแต่ระดับอ่อนๆเป็นไข้หวัดธรรมดา และรุนแรงถึงขั้นหายใจติดขัด ระบบการหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต เช่น โรคไข้หวัดซาร์ส สำหรับโรคใหม่นี้ หากพิจารณาจากผู้ป่วย 2 ราย โรคมีความรุนแรง แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าแท้จริงโรคมีความรุนแรงหรือไม่ เพราะผู้ป่วยมีจำนวนน้อย ส่วนการติดต่อของโรค จากการติดตามผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยทั้ง 2 ราย พบว่ายังไม่มีการป่วยเป็นโรคนี้ แสดงว่าโรคยังไม่ระบาดจากจ้นตอโรคไปยังคนอื่น ณ ขณะนี้ความเสี่ยงยังต่ำอยู่”ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว
                 นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการเตรียมการป้องกันและควบคุมโรคของประเทศไทย จะเน้นใน 6 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1.เฝ้าระวังทางระบาดวิทยา จะดำเนินการตามนิยามของฮู โดยผู้ที่เดินทางจากประเทศซาอุดิอาระเบียและกาตาร์เข้ามาในประเทศไทย ถ้ามีอาการป่วยรุนแรง เช่น ปอดบวม เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลต้องสอบสวนโรคทุกราย ซึ่งกรมจะทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนเพื่อให้ดำเนินการตามมาตรการ 2.เฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์หรือห้องแล็ป จากการตรวจสอบศักยภาพของห้องแล็ปในประเทศ พบว่า สามารถตรวจสอบเชื้อตัวนี้ได้ ซึ่งฮูและซีดีซีจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องรายละเอียดของสารพันธุกรรมของไวรัสในขั้นตอนตรวจสอบ
                 3.การดูแล รักษา จะใช้แนวทางเดียวกับช่วงที่เกิดการระบาดของโรคซาร์ส เพราะไม่มียารักษา ต้องดูแลแบบประคับประคอง โดยกรมการแพทย์จะจัดทำแนวทางการดูแลรักษา เน้นป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล 4.การดูแลผู้เดินทาง จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ชาวตะวันออกกลางที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย มีประมาณ 1 หมื่นคนต่อเดือน เฉพาะจากประเทศซาอุดิอาระเบียและกาตาร์ประมาณ 6 พันคนต่อเดือน จะจัดทำใบให้คำแนะนำของโรคเป็น 3 ภาษาทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาอารบิก แจกที่บริเวณขาเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
                รวมถึงประสานไปยังโรงพยาบาลเอกชนในเมือท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯและภูเก็ตเฝ้าระวังเข้มข้นด้วย และไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องตรวจจับความร้อนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพราะไม่มีประโยชน์ และ2.กลุ่มชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งปีนี้จะมีผู้เดินทางไปประมาณ 15,000 คน จะประสานให้คณะแพทย์ที่เดินทางไปด้วยดูแล รักษาเบื้องต้น และเมื่อเดินทางกลับประเทศไทยจะต้องติดตามการเจ็บป่วยเป็นเวลา 10 วัน
                5.การสื่อสารความเสี่ยง คณะทำงานวิชาการมีข้อสรุปให้ใช้ชื่อโรคนี้ ว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012 เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไม่สร้างความสับสนให้กับประชาชน และ6.การกำหนดยุทธศาสตร์ กำหนดสถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1.ไม่มีผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยจัดอยู่ในสถานการณ์ระดับนี้ 2.พบผู้ป่วยควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง 3.มีการระบาดเป็นวงกว้างแต่การเจ็บป่วยไม่รุนแรง และ4.โรคทวีความรุนแรงขึ้น

"สุกุมล"เตือนผู้แสวงบุญฮัจญ์เฝ้าระวังเชื้อ “โคโรน่า"ระบาด
                นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  กล่าวอวยพรในพิธีส่งผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2555 ว่า การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในครั้งนี้ วธ.  ได้จัดส่งคณะผู้แทนฮัจญ์ไทยเดินทางไปดูแลอำนวยความสะดวก  นำโดย ดร.อิสมาแอ อาลี อะมีรุ้ลฮัจญ์   เพื่อดูแลอำนวยความสะดวกนับตั้งแต่เดินทางถึงสนามบินซาอุดีอาระเบีย  โดยมีการตั้งสำนักงานคณะผู้แทนฮัจญ์ไทย ทั้งเมืองมักกะห์  มะดีนะห์ ที่สำคัญ ได้ประสานไปยังกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  จัดคณะแพทย์ และเจ้าหน้าที่ๆเกี่ยวข้อง 42 คน ไปประจำที่สำนักงานคณะผู้แทนฮัจญ์ไทย ดูแลผู้แสวงบุญชาวไทย  และเตรียมพร้อมร่ายกาย เพราะขณะนี้อุณหภูมิที่ซาอุดีอาระเบียสูงมาก เสี่ยงต่อการเกิดโรคโคโรน่า ที่ส่งผลต่อระบบเดินหายใจ รวมถึงโรคอุจจาระร่วงอีกด้วย
              “ในระหว่างที่ผู้แสวงบุญพำนักอยู่ ณ นครมักกะห์  คณะผู้แทนฮัจญ์ไทยจะเดินทางไปพบปะให้ความรู้ตามอาคารที่พัก โดยเฉพาะในช่วงการประกอบศาสนกิจที่ตำบลมีนา สถานที่รวมตัวกันของผู้แสวงบุญ คณะผู้แทนฮัจญ์จะติดตามและประเมินผลการเดินทางเพื่อนำมาพัฒนาการดำเนินงานกิจการฮัจญ์ไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นางสุกุมล กล่าว 
 นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้แสวงบุญชาวไทยได้เดินทางไปถึงประเทศซาอุดิอาระเบียแล้ว 10,300 คน  ซึ่งการส่งผู้แสวงบุญครั้งนี้  ถือเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของการเช่าเหมาลำ ที่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่  สำหรับการเดินครั้งนี้ยังพบปัญหา ปริมาณน้ำหนักกระเป๋าผู้แสวงบุญเกินจำนวนที่สายการบินกำหนด ทำให้ต้องเอาสิ่งของออก เสียเวลาในการเดินทาง ดังนั้น นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วธ. จึงสั่งการให้ ศน. นำปัญหาดังกล่าวไปแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในปีต่อไป โดยให้ชี้แจงผู้ประกอบการ และจัดเตรียมลังพลาสติกรองรับไว้ที่ศูนย์อำนวยการ ณ สนามบินต่างๆ
                อธิบดี ศน. กล่าวต่อว่า สำหรับการเดินทางของผู้แสวงบุญนอกระบบที่ตนได้ตรวจสอบว่ามีการเดินทางไปจำนวน  807 คน  นั้น ข้อมูลล่าสุด ได้รับรายงานว่า มีผู้แสวงบุญเดินทางไปเพียง 180 คน เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 627 คน นั้น ศน. ได้ประสานผ่านบริษัทนอกระบบทั้ง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท มูซากมล เทรเวล จำกัด, หจก.วันเฉลิมทัวร์, บริษัท นิลลี่ อินเตอร์แนชั่นแนล จำกัด ให้ยกเลิกการเดินทางเนื่องจากไม่มีที่พัก และอาหารรองรับ
               ส่วนความคืบหน้าการแจ้งความดำเนินคดีกับทั้ง 3 บริษัทนั้น ได้รับแจ้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่าได้รับเป็นคดีพิเศษแล้ว และในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศในวันที่ 8 ต.ค.นี้ จะมีการเสนอให้ที่ประชุมลงมติประกาศขึ้นบัญชีดำผู้ประกอบการดังกล่าว พร้อมทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อไม่ให้ดำเนินการยื่นขอวีซ่าไปแสวงบุญอีก อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27 ก.ย. รมว.วธ. ได้มอบหมายให้ นายสุระ เตชะทัต ที่ปรึกษา วธ. เดินทางไปส่งผู้แสวงบุญ ณ ท่าอากาศยานภูเก็ตอีกด้วย

เครดิต คมชัดลึก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น